ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม การรับมือและการช่วยเหลือประชาชน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า ตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลและเป็นเรื่องแรกของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้มีการสั่งการให้รัฐมนตรีทุกท่านใส่ใจเป็นพิเศษ และกำชับสส.ที่อยู่ในการควบคุมดูแลลงพื้นที่ให้มาก ซึ่งเราต้องดูแลคนที่เดือดร้อนทันที รวมถึงการเยียวยาพื้นที่เพาะปลูกที่จะมีการสูญเสียจะต้องมีการดูแลความเสียหาย ส่วนเรื่องการผันน้ำวันนี้จะมีการวางแผนการระบายน้ำของแต่ละพื้นที่เพื่อไม่ให้น้ำที่มีอยู่สูญเปล่า ต้องบริหารจัดการให้สำรองไว้ใช้ในช่วงฝน ทิ้งช่วง โดยให้ความสำคัญกับการใช้น้ำใน 4 มิติ ได้แก่

1. น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

2. น้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศ

3. น้ำเพื่อการเกษตรกรรม

4. ที่น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม

โดยวันศุกร์นี้จะมีการลงพื้นไปจังหวัดอุบลราชธานี เพราะจากข้อมูลของกรมชลประทานในพื้นที่มีน้ำล้นขึ้นมา ได้มีการสั่งการ ให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมแผนงานไว้ เพราะจากปีที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานีเกิดน้ำท่วมเยอะและมีระยะเวลานาน ถ้าน้ำท่วม ในระยะเวลาสั้น ๆ พื้นที่เพาะปลูกอาจไม่เสียหายมาก แต่ถ้าเกิดน้ำท่วมในระยะยาวพื้นที่เพาะปลูกก็จะเสียหายมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนมีความกังวลอยู่ โดยรัฐบาลก็จะมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่วนในเรื่องของแผนระยะยาวในการป้องกันการเกิดน้ำท่วมซ้ำซากนั้นรัฐบาลมีแผนบูรณาการไม่ท่วม ไม่แล้ง

นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีความกังวลเรื่องของน้ำ ในการใช้อุปโภค บริโภคซึ่งจากการตรวจสอบ พบมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ส่วนเรื่องของการรักษาระบบนิเวศนั้น มีการบริหารจัดการอยู่ ส่วนเรื่องที่เรามีความกังวลมากนั้น คือ เกษตรกรรม ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงของน้ำท่วมและในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นช่วงฤดูแล้ง ปัญหาดังกล่าวนี้ จะต้องการมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม นอกจากนั้นเรื่องของการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามานั้น มีความต้องการน้ำในปริมาณมาก เพราะปัจจุบันเราเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานก็ยังมีความต้องการน้ำนั้นอยู่ซึ่งรัฐบาลต้องมีแผนป้องกันและทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างความมั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะไม่มีการขาดแคลนน้ำ ถ้าสามารถบริหารจัดการน้ำในส่วนนี้ได้เชื่อว่า จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนแลกเปลี่ยนข้อมูลพร้อมทั้งเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาและจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ปภ.เตือนเฝ้าระวังพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ

1. สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังในระยะสั้น

ภาคกลาง

• ระยอง (อ.เมืองฯ บ้านค่าย)

• จันทบุรี (อ.เมืองฯ แก่งหางแมว)

• ตราด (อ.บ่อไร่ คลองใหญ่)

• กรุงเทพมหานคร (ทุกเขต)

2. สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ

• ตาก (อ.สามเงา บ้านตาก)

• พิษณุโลก (อ.บางระกำ)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

• ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ)

• ขอนแก่น (อ.ชุมแพ)

• กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ ห้วยเม็ก)

• ร้อยเอ็ด (อ.ธวัชบุรี เสลภูมิ)

• ยโสธร (อ.เมืองฯ ป่าติ้ว ค้อวัง มหาชนะชัย)

• อุบลราชธานี (อ.เมืองฯ วารินชำราบ ม่วงสามสิบ ตระการพืชผล เขื่องใน เหล่าเสือโก้ก ตาลสุม ดอนมดแดง)

ภาคกลาง

• อ่างทอง (อ.ป่าโมก)

• พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล เสนา ผักไห่)

โดยติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะบริเวณน้ำท่วมแนวสายไฟฟ้า เสาไฟฟ้า หรือวัตถุสื่อนำกระแสไฟฟ้า รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านทาง เพื่อความปลอดภัยควรงดการท่องเที่ยวในพื้นที่ถ้ำที่มีน้ำท่วมขัง และน้ำตกที่น้ำไหลเชี่ยว

เปิดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม 2566

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะสามารถได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ภายหลังจากพ้นวิกฤตน้ำท่วมไปแล้ว โดยเจ้าหน้าที่จะเขาไปทำการสำรวจความเสียหาย กำหนดไว้ภายใต้หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้

ด้านการดำรงชีพ

การช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม ด้านการดำรงชีพ กำหนดให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงิน โดยคำนึงถึง สภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม แบ่งเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้

1.ค่าอาหารจัดเลี้ยง วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน

2.ค่าถุงยังชีพ ชุดละไม่เกิน 700 บาทต่อครอบครัว

3.ค่าจัดซื้อหรือจัดหาน้ำสำหรับบริโภคและใช้สอยในที่อยู่อาศัย เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น

4.ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท

5.ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ เท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท

6.ค่าวัสดุซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าว เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 5,700 บาท

7.กรณีที่ผู้ประสบภัยพิบัติเช่าบ้านเรือน ให้ช่วยเหลือเป็นค่าเช่าบ้าน แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เท่าที่จ่ายจริงในอัตราครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,800 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน

8.ค่าดัดแปลงสถานที่สำหรับเป็นที่พักชั่วคราว เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละ ไม่เกิน 2,500 บาท

9. ค่าใช้จ่ายที่ส่วนราชการจัดหาสาธารณูปโภคในที่พักชั่วคราว

10.ค่าเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับความเสียหาย กรณีไม่มีเครื่องนุ่งห่มในการดำรงชีพขณะเกิดภัย รายละไม่เกิน 1,100 บาท

11.ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ และหรือเงินทุนสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท

12.ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

13.ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท เป็นต้น

14.กรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติมีอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส ยาวนานติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 300 บาท

15.ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท

16.ค่าเครื่องนอน ที่สูญหายหรือได้รับความเสียหายและไม่สามารถ นำกลับมาใช้ได้อีก เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 1,000 บาท

ด้านสังคมสงเคราะห์

การช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม ด้านสังคมสงเคราะห์ ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยจัดโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพ ระยะสั้นเฉพาะพื้นที่ประสบภัยพิบัติแก่ผู้ประสบภัย เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวในภาวะวิกฤต โดยให้เบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ดังนี้

• ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์การฝึกอาชีพ เท่าที่จ่ายจริงคนละ ไม่เกิน 2,000 บาท

• ค่าใช้จ่ายตอบแทนวิทยากร วันละไม่เกิน 500 บาท ไม่เกิน 10 วัน

• ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปฏิบัติการฝึกอบรม เท่าที่จ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท

• เงินทุนประกอบอาชีพที่ได้รับการฝึกอบรม เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 4,000 บาท

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

การช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ดังนี้

1. จัดหาวัสดุ เคมีภัณฑ์ อาหาร และเวชภัณฑ์ สำหรับแจกจ่ายประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคน้ำและอาหารที่ปลอดภัย

2. จัดหาวัสดุ เคมีภัณฑ์ วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับไปปฏิบัติงาน ช่วยเหลือประชาชน ปรับปรุงสุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการควบคุมป้องกันโรคได้ เท่าที่ จ่ายจริง ตามความจำเป็นและเหมาะสม

3. จัดหาวัสดุควบคุมและป้องกันโรคระบาดในภาวะภัยพิบัติ จัดหายาและเวชภัณฑ์ สำหรับไปปฏิบัติงาน การควบคุมป้องกันโรคและการปฏิบัติการด้านการแพทย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะ ภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” (ไทย-ดิส-แอส-เทอร์-อะ-เลิ้ด)

หน่วยงานราชการขานรับ ปรับแผนรับมือเชิงรุก “อุทกภัย”

ด้านกระทรวงมหาดไทย โดยนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสาย ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบจากการเกิดอุทกภัย และหากพื้นที่ใดเกิดอุทกภัยแล้วให้เร่งช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว ส่วนพื้นที่ที่ประสบภัย ทุกปีให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเน้นการป้องกันเชิงรุกก่อนเกิดเหตุ และดูแลพื้นที่ใกล้ชิดให้มากขึ้น เชื่อว่าหากเตรียมพร้อมการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดการเกิดภัยที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือกับกรมชลประทานอย่างเต็มที่

โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เผยว่า พม. มีการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ในมิติของการฟื้นฟูเยียวยา หลังจากน้ำลดว่า ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยจะเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การช่วยเหลือเป็นเงินสงเคราะห์และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และการประสานความช่วยเหลือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจ เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
บทความที่น่าสนใจ
Tag