บทความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ากำลังรุกเร้าสู่สังคมไทย
ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ สื่อต่างๆ มีการนำเสนอข่าวคนดัง ข่าวอาชญากรรม และแม้แต่ข่าวการฆ่าตัวตายที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับการเป็นโรคซึมเศร้าออกมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงควรตระหนักว่า โรคซึมเศร้าใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังเสี่ยงหรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ เพราะข่าวที่ออกมาก็ไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคในเชิงลึกสักเท่าไหร่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักโรคซึมเศร้าในแง่มุมต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการระแวดระวังและหาทางป้องกันหรือรีบรักษา
โรคซึมเศร้ากับสถิติอันตราย
ปัจจุบันโลกของเรามีประชากรราว 7.6 พันล้านคน และมีคนเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคน หรือเกือบ 4% เลยทีเดียว ส่วนในคนไทยเองนั้นพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน หรือ 2.2% ของคนไทยทั้งหมด 69 ล้านคน และน่าตกใจว่าคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายก็คือโรคซึมเศร้านั่นเอง
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าก็มักจะนึกถึงเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และเหตุเสี่ยงโรคซึมเศร้า
ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต หากมีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า หรือ bipolar ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นสูงถึง 60-80% หากคนในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) ที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 20%
อาจสรุปได้ว่าระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้านั้นเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 40:60% การใช้ยาบางอย่างก็ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่น ยานอนหลับบางตัว ยารักษาสิว ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
ท้ายที่สุด... เราไม่สามารถรักษาหรือบำบัดโรคซึมเศร้าได้ด้วยตัวเอง หากเริ่มรู้สึกว่าชีวิตของตนเองไม่ปกติ ขาดความสมดุล มีความเครียดสูง การพบจิตแพทย์ก็เหมือนกับการตรวจสุขภาพใจให้เราเข้าใจสภาพจิตใจของตนเองในขณะนั้น  แพทย์จะแนะนำวิธีป้องกันและปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้นด้วยการปรับวิธีคิด หรือรักษาด้วยการใช้ยา เพราะปัญหาทางด้านจิตใจหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่มีสาเหตุจากโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว การพบจิตแพทย์จะช่วยให้เราได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี


image รูปภาพ
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar