บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและความช่วยเหลือแบบตรงจุด Keyword “ตรงจุด ตอบโจทย์ ถึงมือ”

ความยากจนคือปัญหาที่ส่งผลในแง่ลบต่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อหาสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะหากเศรษฐกิจเข้มแข็ง มีการขยายตัวในระดับสูง จะทำให้ประชาชนในประเทศมีความกินดีอยู่ดีตามไปด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากลึกลงสู่โครงสร้างทางสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้มีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน จึงได้เกิดโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Welfare Card) เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและลดภาระค่าครองชีพในสังคม ซึ่งสอดคล้องโดยตรงตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม การสร้างโอกาสเข้าถึงบริการ

ทาง สังคมอย่างทั่วถึง การเสริมสร้างพลังทางสังคม และการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะประชากรร้อยละ 40 ของประเทศที่มีรายได้ต่ำที่สุดและผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับ 12 ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพบริการทางสังคมให้ทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาและสาธารณสุข

การสำรวจกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้เกิดความช่วยเหลือตรงจุด

หนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ โครงการ National

e-Payment ซึ่งมีโครงการย่อยสำคัญคือ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ

โครงการสวัสดิการแห่งรัฐเริ่มต้นจากความต้องการได้รับข้อมูลที่แท้จริงของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและยากจน จึงเปิดให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในปี 2559 ซึ่งขณะนั้นมีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 8 ล้านคน จากนั้นเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น รัฐบาลจึงโอนเงินช่วยเหลือให้ไปก่อนสำหรับคนกลุ่มนี้ที่มีทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรคนละ 3,000 บาท และ 1,500 บาท จากนั้นในปี พ.ศ. 2560 เปิดลงทะเบียนอีกรอบ มีผู้มาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคน แต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติทำให้เหลือประมาณ 11.4 ล้านคน และนำไปสู่การให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งถือเป็นระยะที่ 1 จากนั้นในปี 2561 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 คือ มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยไม่ได้เป็นการให้เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวแต่พัฒนาให้มีงานทำมีทักษะฝีมือและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ประโยชน์ทั้งผู้ถือบัตรและผู้ประกอบการรายย่อย

นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนโดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งในภาพรวมแล้วถือว่าเป็นนโยบายที่ถูกใจประชาชนนโยบายหนึ่งของรัฐบาลเพราะประชาชนได้รับสินค้าฟรีโดยสามารถนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแลกเป็นสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันตามร้านค้าในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากประชาชนจะได้รับสินค้าฟรีแล้ว ร้านค้าในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการก็ได้รับประโยชน์จากกำไรของยอดขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการขยายการผลิตสินค้าส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในระดับมหภาคอย่างถูกต้องตรงตามเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ร้านธงฟ้า - ร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยท้องถิ่น กลไกสำคัญของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้ผู้มีรายได้น้อยนำบัตรมารูดซื้อสินค้าราคาประหยัดซึ่งมีวงเงินในบัตรจำนวน 200 - 300 บาทต่อเดือน โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้ซื้อที่เป็นผู้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ซื้อทั่วไปที่เห็นว่าราคาสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐ จะช่วยลดภาระค่าครองชีพได้ ถือเป็นการกระจายรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้ารายย่อยอีกทางหนึ่ง ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยในการซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งการซื้อสินค้าจากร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้ง เครื่องรูดบัตร EDC และร้านค้ารายย่อยที่รับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันทางมือถือ ซึ่งจะกระจายตัวอย่างทั่วถึงทุกชุมชน นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าชุมชนในท้องถิ่นให้สามารถจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐมากขึ้นด้วย

ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า การใช้สิทธิ์สวัสดิการผ่านบัตรของผู้มีสิทธิ์ มีจำนวน 14.5 ล้านราย รวมทั้งสิ้น 76,802.78 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองร้านถุงเงินประชารัฐ รวมกันมากกว่า 55,381.72 ล้านบาท

แก้ปัญหาในระยะยาวด้วยการพัฒนาทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพ หรือเงินทุน เพื่อให้หลุดพ้นความยากจน

เป้าหมาย คือให้ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ยากจนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างถาวรด้วยการช่วยให้มีแผนที่ชีวิตที่จะพัฒนาตัวเองได้ คือการให้เครื่องมือให้เบ็ดไปจับปลา อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต 3 ด้าน

ด้านที่ 1 การมีงานทำ - รัฐบาลจัดให้มี AO หรือ Account Officer เข้าไปช่วยดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลงพื้นที่สำรวจ สอบถามสาเหตุของการมีรายได้น้อยหรือไม่มีงานทำ ถ้าอยากจะมีรายได้เพิ่ม มีงานทำ จะทำอย่างไร การเพิ่มทักษะ ความสนใจ แหล่งเงินทุน ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ รวมทั้งธนาคาร เมื่อ AO เก็บข้อมูลมาแล้ว จะมาวิเคราะห์เป็นรายบุคคล เพื่อนำมาวางแผนในการพัฒนาชีวิต โดยมีหน่วยงานภาครัฐและธนาคารร่วมหารือพิจารณา ดังเช่น กระทรวงแรงงานมีข้อมูลอัตราจ้างงานก็สามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปจ้างแรงงานต่อได้

ด้านที่ 2 การฝึกทักษะอาชีพ - โครงการฝึกอบรมอาชีพ เช่น หลักสูตรช่าง 1 หมู่บ้าน 1 ช่าง มีการอบรมหลักสูตร และมีเครื่องมือกลาง รวมทั้งหลักสูตรอื่น ๆ ที่รองรับได้ 2.4 ล้านคน

ด้านที่ 3 การช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน - สำหรับผู้ที่ไม่อยากเป็นลูกจ้าง ผู้ที่ต้องการทำอาชีพอิสระ มีกิจการของตนเอง กระทรวงการคลังซึ่งมีธนาคารของรัฐที่พร้อมจะช่วย เช่น ธนาคารออมสิน ซึ่งมีโครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โครงการสินเชื่อ Street Food หรือ ธ.ก.ส. มีสินเชื่อเพิ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยได้เตรียมสินเชื่อโครงการไว้รองรับได้ราว 2.1 ล้านคน

สถิติคนจนลดน้อยลง

ในปี 2564 สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้น คนยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนยากจนที่ร้อยละ 6.32 ลดลงจากปี 2563 ที่มีสัดส่วนคนยากจนร้อยละ 6.83 ขณะที่เมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนยากจน พบว่า ในปี 2564 ครัวเรือนยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 1.24 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79 ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจน ประมาณ 1.40 ล้านครัวเรือน สำหรับเหตุสำคัญที่สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจาก ในช่วงปี 2563 - 2564 ที่รัฐบาลมีการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด–19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนยากจนและผู้มีรายได้น้อย


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
บทความที่น่าสนใจ
Tag